Where Heart Connects With Art Medical โรคเชื้อราในเล็บ เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

โรคเชื้อราในเล็บ เรื่องใกล้ตัว ที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


เชื้อรา

                ด้วยขนาดที่เล็ก และคุณสมบัติในการแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้ “เชื้อรา” สามารถเป็นเชื้อก่อโรคได้กับทุกส่วนของร่างกาย ไม่เว้นแม้แต่เล็บ รู้หรือไม่ว่า โรคเชื้อราในเล็บนั้นสามารถพบได้กว่า 50% จากโรคเล็บทั้งหมดในมนุษย์ และเราทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ถึง 5.5% เลย ดังนั้นโรคเชื้อราในเล็บจึงนับว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว

รู้จักโรคเชื้อราในเล็บ

            ส่วนใหญ่โรคเชื้อราในเล็บจะเกิดจากเชื้อราในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophytes) ซึ่งเป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตได้ด้วยการอาศัยเคราตินในเล็บเป็นอาหาร รวมถึงเกิดจากเชื้อกลุ่มอื่น เช่น Aspergillus spp Candida spp เป็นต้น โดยจัดอยู่ในกลุ่มโรคเดียวกับกลากเกลื้อนที่ผิวหนัง สามารถเกิดได้ทั้งบริเวณแผ่นเล็บด้านนอกและเนื้อเยื่อใต้แผ่นเล็บ และพบที่เล็บเท้าได้บ่อยกว่าเล็บมือเกือบ 10 เท่า

                ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะเสี่ยงเกิดโรคได้มากกว่าคนทั่วไป

อาการแรกเริ่มของโรค

                เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มมองเห็นความผิดปกติกับเล็บ เช่น เห็นรอยด่างสีสันต่างๆ ใต้เล็บ เล็บเป็นขุย ผิวเล็บไม่เรียบ สัมผัสแล้วรู้สึกเหมือนเป็นลอนคลื่น โดนเล็บแล้วเจ็บแปล๊บ ฯลฯ ให้สงสัยว่านั่นอาจเป็นอาการแรกเริ่มของโรคเชื้อราในเล็บ หากปล่อยไว้นานโดยไม่ทำการรักษา เชื้อราจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และเล็บเริ่มเปลี่ยนสี หัก ฉีกขาด และอาจส่งกลิ่นเหม็นออกมาได้ด้วย

                ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติแล้ว ควรรีบพบเภสัชกรหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที เพื่อยืนยันอาการของโรค และทำการรักษาในลำดับต่อไป

การรักษาโรคเชื้อราในเล็บ

            โรคเชื้อราในเล็บนั้นมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่เป็น อาทิ หากเป็นเชื้อราที่เนื้อเยื่อใต้เล็บ จะทานยาเพื่อรักษาจากภายในได้เพียงอย่างเดียว เช่น Itraconazole, Fluconazole หากเป็นเชื้อราภายนอกเล็บ จะมีทั้งยาทานและยาทาภายนอก เช่น Terbinafine, Clotrimazole หรือหากเป็นผู้ป่วยเรื้อรังที่อาการของโรคมีความรุนแรง และหายยากกว่าคนทั่วไป อาจต้องฉายแสง หรือถอดเล็บเดิมออก ควบคู่กับการรักษาแบบอื่น อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคเชื้อราในเล็บไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว เพราะไม่ใช่ทุกกรณีที่จะจบลงด้วยการถอดเล็บ ในคนที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว แค่เพียงทานยาตรงเวลา และทายาสม่ำเสมอ ก็หายได้ไม่ยากแล้ว

                แต่ข้อควรรู้คือ โรคนี้จำเป็นต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่อง ประมาณ 3 เดือนขึ้นไป เพื่อกำจัดเซลล์เชื้อราให้ลึกถึงต้นตอ และขณะรักษาอาจเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากเล็บได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ข้อควรระวังเมื่อใช้ยารักษาเชื้อรา

            สำหรับผู้เป็นเชื้อราในเล็บที่ต้องทานยา Itraconazole มีข้อควรระวังคือ ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายตับ เพื่อป้องกันตับวาย เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การทานของทอดของมัน การนอนดึก เป็นต้น เนื่องจากการทานยานี้ จะต้องทานต่อเนื่อง 1 สัปดาห์ และพัก 3 สัปดาห์ (ขึ้นกับปริมาณโดสยา) ต่อเนื่องกัน 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งในช่วงที่ต้องกินยาตลอดสัปดาห์จะทำให้ตับทำงานหนักกว่าปกติ

                แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในชีวิตประจำวันควบคู่ไปด้วย เพราะเชื้อรามีอยู่ในทุกที่ที่มีความชื้น และความสกปรก โดยเฉพาะในช่วงฝนตก น้ำท่วมแบบนี้